เมนูเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโปรแกรมบนวินโดวส์ เพราะเป็นที่เก็บคำสั่งต่างๆ ที่โปรแกรมมีไว้ให้ผู้ใช้เรียกใช้ ส่วนประกอบต่างๆของเมนูแสดงสำหรับการออกแบบเมนูที่ดีเราจำเป็นต้องจัดกลุ่มคำสั่งต่างๆ เป็นหมวดหมูและนำมาไว้ในแต่ละเมนูโดยอาจจะแบ่งคำสั่งบางชุดออกจากกันด้วยเส้นแบ่ง ดังที่เห็นในรูป
เมนูที่ใช้กันในโปรแกรมประยุกต์นั้นส่วนใหญ่แบ่งได้สองประเภทคือ PullDown Menu และ PopUp Menu เมนูแบบ PullDown เป็นเมนูที่มีตำแหน่งอยู่บนโปรแกรมแน่นอน เมื่อผู้ใช้งานเลือกเมนูนี้ก็อาจมีคำสั่งหรือเมนูย่อยๆ ให้เลือกใช้งานอีก ส่วนเมนูแบบ PopUp เป็นเมนูที่ไม่มีตำแหน่งที่แน่นอนในโปรแกรม ผู้ใช้อาจต้องคลิกที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในโปรแกรมจึงจะแสดงเมนูออกมา สำหรับในหัวข้อนี้จะแสดงการสร้างเมนูแบบ PullDown
ในการสร้างเมนูบนฟอร์มสามารถทำได้โดยนำคอมโพเนนต์ MenuStrip มาใช้ได้คอมโพเนนต์ตัวนี้สามารถจัดการในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเมนู เช่น การเพิ่ม ลบ และแก้ไขรายการที่ปรากฏในเมนู การกำหนดคีย์ลัด (ShortCuts) สำหรับเรียกใช้คำสั่ง เป็นต้น โดยเมนูที่สร้างขึ้นจะมีลักษณะเหมือนคอนโทรลทั่วไป ที่สามารถกำหนดคุณสมบัติของเมนูทางหน้าต่างคุณสมบัติได้ และตอบสนองต่ออีเวนต์ของเมนูได้ด้วย สำหรับตัวอย่างต่อไปเป็นการสร้างเมนูแบบ PullDown ให้กับโปรแกรมประยุกต์ทำได้โดยการนำคอมโพเนนต์ MenuStrip มาวางบนฟอร์ม คอมโพเนเนต์ตัวนี้จะอยู่ในกลุ่ม Menus & Toolbars การสร้างเมนูทำได้ขั้นตอนต่อไปนี้
1. สร้างโปรเจ็กต์ใหม่แล้วเลือกคอมโพเนนต์ MenuStrip มาวางบนฟอร์ม
2. สัญลักษณ์ของคอมโพเนนต์ MenuStrip จะแสดงบริเวณด้านล่างของ Form Designer ส่วนบนฟอร์มจะแสดงเมนูว่างเปล่าออกมา และปรากฏช่อง "Type Here" สำหรับพิมพ์รายการต่างๆของเมนูย่อยดังรูป
3. ทดลองสร้างเมนูย่อย โดยกำหนดให้เป็นเมนู File และมีคีย์ลัดคือคีย์ F โดยพิมพ์ &File ลงไปในช่อง Type Here เมื่อพิมพ์ข้อความลงไป โปรแกรมจะแสดงช่องสำหรับสร้างรายการย่อยต่อไปอีก และแสดงหน้าต่างคุณสมบัติของเมนู File ออกมาด้วย ดังรูป ในเมนูที่สร้างขึ้นหัวข้อหลักจะเรียกว่า เมนูบาร์ (Menu Bar) รายการแต่ละเมนูเรียกว่า เมนูไอเท็ม (Menu Item) ส่วนรายการย่อยของเมนูไอเท็มเรียกว่า เมนูย่อยหรือซับเมนู (Sub Menu)
4. ให้ทดลองสร้างเมนูที่สองเป็นเมนู "Edit" เมนูที่ต้องการให้เมนูย่อยทำได้โดยคลิกเมนูย่อยทางขวามือของรายการนั้นๆ ให้ทดลองเพิ่มรายการลงไปในเมนูดังรูป
5. เมื่อต้องการออกจากเมนูย่อยเพื่อกลับไปเมนูหลัก ก็สามารถใช้เมาส์คลิกที่เมนูหลักได้ทันที ตัวอย่างเช่น ใช้เมาส์คลิกที่เมนู File จะเป็นการเพิ่มเติมเมนูย่อยให้กับเมนู File
6. ให้ทดลองเพิ่มรายการเข้าไปในเมนู File ดังรูปต่อไปนี้ ในการเพิ่มรายการนั้นถ้าหากต้องการให้เป็นเมนูในลักษณะใด เช่น ให้เป็นเท็กซ์บ็อกซ์ (TextBox) หรือคอมโบบ็อกซ์ (ComboBox) หรือมีการแทรกรายการใหม่ให้คลิกเมาส์ขวาแล้วเลือก Insert ดังรูป
7. ทดลองเพิ่มเมนูรายการต่างๆลงไปดังรูป ถ้าหากต้องการให้เมนูไอเท็มหรือรายการใดแสดงเครื่องหมายเช็ค (Checked) ด้านหน้าเมนู เพื่อแสดงว่าได้เลือกรายการนั้นอยู่สามารถกำหนดได้ในหน้าต่างคุณสมบัติ เลือก คุณสมบัติ Checked ให้เป็น True ก็จะแสดงเครื่องหมายเช็คออกมา ดังรูป
8. ในการสร้างเมนูนั้นถ้าหากป้อนรายการไอเท็มผิดพลาด หรือต้องการแก้ไขลำดับเมนูเพื่อเรียงลำดับก่อนหลังใหม่ สามารถทำได้โดยการคลิกเมาส์ค้างไว้ที่ไอเท็ม แล้วลากไปยังตำแหน่งที่ต้องการ หรือถ้าต้องการให้มีเส้นคั่นระหว่างไอเท็ม สามารถทำได้โดยการพิมพ์เครื่องหมาย – ไปที่รายการนั้นดังรูป